วันจันทร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

สกว.-มข.พัฒนาเครือข่ายวิจัยไก่พื้นเมือง ตั้งเป้าสู่ศูนย์กลางปรับปรุงพันธุ์ระดับนานาชาติ


     ศ.ดร.สวัสดิ์ ตันตระรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวภายหลังลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือร่วมกับรศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น(มข.) ในโครงการพัฒนาศูนย์เครือข่ายวิจัยและพัฒนาด้านการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ (ไก่พื้นเมือง) ระยะที่ 2 ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ว่า จากที่สกว.ได้ร่วมกับมข. จัดตั้งศูนย์เครือข่ายวิจัยและพัฒนาด้านการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ ระยะที่ 1 (2553-2555) ตั้งแต่ปี 2552 ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาได้บรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้คือ ได้ไก่พื้นเมืองที่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์ 7 สายพันธุ์
          ได้แก่ ไก่ประดู่หางดำ เคเคยู, ไก่ชี เคเคยู, ไข่มุกอีสาน, ขาวสร้อยนิล, สร้อยเพชร, แก่นทอง, และไทยบรอยเลอร์ ซึ่งเกษตรกรสนใจนำไก่พื้นเมืองดังกล่าวไปเลี้ยงเพื่อเป็นอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ในครัวเรือน ทำให้เกิดการรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายผู้เลี้ยงไก่พื้นเมืองที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในชุมชน ขยายโอกาสด้านการตลาด
          ผอ.สกว.กล่าวว่า อีกทั้งภาครัฐยังให้ความสนใจนำไก่พื้นเมืองเป็นต้นแบบในการพัฒนาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ของประเทศ ตลอดจนขยายผลไปยังผู้ผลิตระดับท้องถิ่นเพื่อเป็นเครือข่ายส่งเสริมและกระจายพันธุ์ไก่พื้นเมือง ขณะที่ภาคเอกชนให้ความสนใจร่วมวิจัยและพัฒนาเพื่อผลักดันให้ใช้ไก่พื้นเมืองเป็นอาหารสุขภาพ รวมถึงผลิตไก่เนื้อจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการดำเนินงานในรูปเครือข่ายวิจัยและพัฒนาช่วยส่งเสริมให้การทำงานวิจัยสามารถตอบสนองความต้องการของทุกภาคส่วน และก่อให้เกิดประโยชน์ในหลายๆ ด้าน
          ผอ.สกว.กล่าวด้วยว่า สำหรับกรอบความร่วมมือระยะที่ 2 มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาสายพันธุ์ไก่พื้นเมืองที่เป็นประโยชน์ในการสร้างทางเลือกการใช้ประโยชน์ด้านพันธุกรรมให้กับผู้ใช้ประโยชน์ ทั้งในระดับเกษตรกร ระดับท้องถิ่น ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและธุรกิจเอกชน และสนับสนุนให้มข. เป็นแหล่งพัฒนาวิชาการด้านการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ครบวงจร โดยใช้ไก่พื้นเมืองเป็นต้นแบบ และดูแลเครือข่ายวิชาการด้านการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ (ไก่พื้นเมือง) ให้กับประเทศ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางของเครือข่ายการวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี และเป็นศูนย์กลางการฝึกอบรมด้านการปรับปรุงพันธุ์ไก่พื้นเมืองในระดับนานาชาติ
          "ภายใต้โครงการความร่วมมือนี้จะทำให้สามารถตอบโจทย์ทั้งด้านผู้บริโภค ผู้ผลิตและทางวิชาการ โดยจะทำให้ได้เนื้อไก่ที่มีคุณภาพและสายพันธุ์ไก่ที่เป็นประโยชน์กับการพัฒนาไก่พื้นเมืองของประเทศ รวมทั้งองค์ความรู้ด้านการวิจัยเชิงลึกที่สามารถเผยแพร่ให้แก่ภาคเอกชน ท้องถิ่น และเกษตรกร อีกทั้งเป็นการพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยของ มข. และมหาวิทยาลัยเครือข่าย รวมถึงผลงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ระดับชาติและระดับนานาชาติ" ผอ.สกว.กล่าว

ที่มา : ข่าวสด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น