วันพุธที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ค้าปลีกไทยโกยโอกาสทองเออีซียักษ์ใหญ่กางแผนรุก-ปรับโฉมรับ


          ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งถือเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยเพราะในแต่ละปีจะมีมูลค่าการค้าขายไม่ต่ำกว่า 1.4 ล้านล้านบาท และปีนี้คาดว่าจะเติบโต 10-12% ส่วนหนึ่งของการขยายตัวที่ดีมาจากนักธุรกิจของไทยมีวิสัยทัศน์ในการทำธุรกิจ ทำให้ไม่ว่าประเทศไทยจะมีปัจจัยลบอะไรเกิดขึ้น ธุรกิจก็ยังคงเดินหน้าต่อ ขณะเดียวกันก็มีการขยายตัวที่ดีกว่าบางช่วงเวลาที่การเมืองนิ่ง เศรษฐกิจดีเสียอีก
          อีกปัจจัยสำคัญที่จะเป็นแรงหนุนให้ธุรกิจค้าปลีกของไทยมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องก็คือการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ในปี 2558 เพราะเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่สำคัญของผู้ประกอบการไทยที่จะขยายธุรกิจไปสู่อาเซียนเพื่อรับกำลังซื้อ 600 ล้านคน และในทางกลับกันยังมีโอกาสกอบโกยเงินจากนักลงทุนรวมถึงนักท่องเที่ยวที่จะหลั่งไหลมาไทย
          จากโอกาสดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการค้าปลีกเริ่มกางแผนธุรกิจในอนาคต ทั้งการเปิดศูนย์ใหม่และปรับปรุงศูนย์เก่าให้มีความทันสมัย สวยงาม มีบริการครบครัน ซึ่งย่านที่มีการปรับตัวมากที่สุดคงจะหนีไม่พ้นย่านใจกลางเมือง เพราะขณะนี้ผู้ประกอบการศูนย์การค้าแต่ละรายต่างออกมาตบเท้าปรับศูนย์เก่าและเตรียมเปิดศูนย์ใหม่กันอย่างคึกคัก
          บริษัท สยามพิวรรธน์ ถือเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการค้าปลีกเดินหน้าปรับปรุงศูนย์การค้าในเครืออย่างต่อเนื่องโดยการควักกระเป๋า 1,800 ล้านบาท ปรับโฉมศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ รวมทั้งเตรียมงบอีก 6 หมื่นล้านบาทปรับปรุงศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ อาคารสยามทาวเวอร์ ขยายศูนย์การค้าและอาคารสำนักงานใหม่อีก 3-4 โครงการใน 3 ปีนับจากนี้ นั่นรวมถึงโครงการศูนย์การค้าริมแม่น้ำเจ้าพระยาในเฟสแรกมูลค่า 3,000 ล้านบาท
          ขณะที่บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป ก็มีแผนที่จะปรับปรุงศูนย์การค้าในเครืออย่างต่อเนื่องเริ่มด้วยใช้งบ 500 ล้านบาท ปรับซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านอาหารในศูนย์การค้าสยามพารากอนเพื่อนำร้านอาหารต่างชาติเข้ามาเปิดให้บริการกว่า10 แบรนด์ หลังใช้งบ 200 ล้านบาท ปรับแผนกแฟชั่นไปแล้ว
          นอกจากนี้ ยังจะใช้งบอีก 500 ล้านบาท ปรับปรุงศูนย์การค้าเดอะมอลล์สาขาบางแคและท่าพระ พร้อมกับใช้งบกว่า 1.4 หมื่นล้านบาทผุดโครงการเอ็มโพเรียม 2 หรือ"เอ็มควอเทียร์" อยู่ตรงข้ามเอ็มโพเรียม สุขุมวิท 24 โดยอยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าพร้อมเปิดตัวในปี 2557
          เท่านั้นยังไม่พอ เดอะมอลล์ กรุ๊ป ยังกางแผนเตรียมเปิดศูนย์การค้าใหม่เพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 5 สาขาในอีก 10 ปีนับจากนี้ จากปัจจุบันเปิดให้บริการศูนย์การค้าเพียง 10 สาขาทั้งนี้ก็เพื่อรองรับการเปิดเออีซีที่จะเกิดขึ้นในปี2558
          บริษัท เกษร แลนด์ แอสเซท แมนเนจเม้นท์ ผู้บริหารศูนย์การค้าเกษร ก็ลุกขึ้นมาปรับปรุงศูนย์การค้าเกษรครั้งใหญ่ในรอบ 12 ปี ภายใต้งบกว่า 1,000 ล้านบาท เพื่อตอกย้ำภาพลักษณ์ของความเป็นผู้นำด้านลักชัวรีไลฟ์สไตล์ระดับโลก จะเริ่มปรับปรุงในเดือน ก.พ.นี้ กำหนดแล้วเสร็จเดือนต.ค.ปีนี้ ต่อด้วยการเตรียมงบ 3,500 ล้านบาท ก่อสร้างศูนย์การค้าเกษรส่วนขยายเฟส 2 ติดกับโครงการเดิม ประกอบด้วย อาคารสำนักงาน 26 ชั้น และศูนย์การค้า 4 ชั้น
          ที่ลืมกล่าวถึงไม่ได้คือ กลุ่มเซ็นทรัล เพราะทั้งบริษัทเซ็นทรัลพัฒนา (ซีพีเอ็น) และบริษัท เซ็นทรัลรีเทล คอร์ปอเรชั่น (ซีอาร์ซี) ต่างออกมาเปิดแผนขยายธุรกิจทั้งเชิงรับและเชิงรุก เพื่อรองรับการเปิดเออีซีที่จะเกิดขึ้น
          กลยุทธ์เชิงรับของเซ็นทรัลคือ การเข้าปักหมุดในทำเลทองที่จะกลายเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงไทยกับประเทศรอบด้าน ด้วยการขยายสาขาในแต่ละภูมิภาค นั่นคือ จ.เชียงรายเชื่อมต่อจีนตอนใต้จ.อุดรธานี เพื่อเชื่อมต่อลาวและกัมพูชาไปจนถึงเวียดนาม รวมถึงสาขาหาดใหญ่ที่หวังจับลูกค้าชาวมาเลเซีย และเซ็นทรัลเวสท์เกต ที่ยึดทะเลภาคตะวันตกเชื่อมต่อพม่า
          กอบชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ซีพีเอ็นกล่าวย้ำว่า ซีพีเอ็นต้องมองคู่แข่งเพื่อเรียนรู้และเข้าไปจับจองทำเลที่ตั้งเมื่อมองเห็นประโยชน์ของเออีซีจึงต้องเข้าไปฉกฉวยโอกาสจากการเติบโตเพื่อให้ธุรกิจเติบโตตาม
          นอกจากการตั้งรับแล้ว กลุ่มเซ็นทรัลยังเดินกลยุทธ์เชิงรุกด้วยการเข้าไปสยายปีกแล้วใน 3 ประเทศ ประกอบด้วยอิตาลี จีน และล่าสุดคือ อินโดนีเซีย ที่จะเปิดห้างเซ็นทรัลแกรนด์ อินโดนีเซีย ที่กรุงจาการ์ตา ปี 2557
          อย่างไรก็ตาม ค้าปลีกไทยจะไปรุ่งหรือไม่ในเออีซี รวมถึงการตั้งรับอย่างแข็งแกร่งในเมืองไทย นอกจากการขยับอย่างขยันขันแข็งของผู้ประกอบการเองแล้ว ส่วนหนึ่งยังต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐไปพร้อมกัน
ที่มา  : โพสต์ทูเดย์ 





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น