วันอาทิตย์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2555

บจ.ผุดแผนธุรกิจรุกAEC


             กระแสการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) กำลังมาแรง หลายธุรกิจไม่ว่าจะขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ต่างตื่นตัวกันขนานใหญ่ เช่นเดียวกับบริษัทจดทะเบียน (บจ.)  หลายแห่งที่อยู่ระหว่างปรับวิสัยทัศน์ เตรียมแผนธุรกิจอย่างเข้มข้น เพื่อให้ทันต่อการแข่งขันและโอกาสที่จะถาโถมเข้ามาในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า  "วีรพันธ์ พูลเกษ" กรรมการผู้จัดการบริษัท ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น
          (TICON) เปิดเผยว่า บริษัทได้ปรับแผนธุรกิจใหม่เพื่อรองรับการเข้าสู่AEC ในปี 2558 โดยมองว่าในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า ความต้องการคลังสินค้าและศูนย์กระจายสินค้าในประเทศไทยจะเพิ่มสูงขึ้นมาก เพราะไทยถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ของภูมิภาคนี้ หากผู้ประกอบการต้องการขยายธุรกิจออกไปสู่อาเซียน ก็ต้องเข้ามาลงทุนด้านคลังสินค้าและศูนย์กระจายสินค้าในประเทศไทยเพื่อใช้เป็นฐานขนส่งออกไป
          "ปัจจุบันเรามีฐานธุรกิจอยู่ในเขตกรุงเทพฯอยุธยา ชลบุรี และปราจีนบุรี แต่จากนี้ไปจะเริ่มขยายออกไปสู่พื้นที่ภาคเหนือและอีสาน ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับเพื่อนบ้านมากขึ้นรวมทั้งมีแผนออกไปทำธุรกิจต่างประเทศด้วยโดยอยู่ระหว่างเตรียมเงินทุนให้พร้อมและมองหาที่ดินใหม่ๆ" วีรพันธ์ กล่าว
          ทั้งนี้ บริษัทมีแผนก่อสร้างคลังสินค้าและศูนย์กระจายสินค้าให้ได้ปีละประมาณ 2 แสนตารางเมตร ซึ่งในช่วงนี้คาดว่างบลงทุนจะอยู่ที่ประมาณ 5,000 ล้านบาท แบ่งเป็นงบซื้อที่ดินจำนวน 2,000 ล้านบาท และงบก่อสร้าง3,000 ล้านบาท
          สำหรับรายได้รวมปีนี้คาดว่าจะมากกว่า5,000 ล้านบาท ซึ่งโตขึ้นจากปี 2554 ไม่ต่ำกว่า 100% และคาดว่าภายใน 2-3 ปี รายได้จากคลังสินค้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 50% ของรายได้รวม จากปัจจุบันอยู่ที่ 30%
          "เสริมคุณ คุณาวงศ์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีเอ็มโอ (CMO) กล่าวว่า อุตสาหกรรมออร์แกไนซ์จะได้รับประโยชน์จากการเปิดAEC มาก เพราะความสามารถของผู้ประกอบการไทยถือว่าอยู่ในอันดับต้นๆ ของอาเซียน
          สำหรับ CMO ได้ตั้งแผนกอาเซียนขึ้นมาศึกษากฎระเบียบ โอกาสทางธุรกิจ และระบบขนส่งในภูมิภาคนี้ โดยเบื้องต้นคาดว่าจะต้องหาพันธมิตรท้องถิ่นเข้ามาร่วมทำธุรกิจ เพราะในต่างประเทศจำเป็นต้องขอใบอนุญาตด้วย
          นอกจากนี้ อาจต้องออกไปตั้งบริษัทร่วมทุนในประเทศที่ห่างไกลจากไทยและไม่มีจุดเชื่อมโยงระบบขนส่งเช่น อินโดนีเซีย เพราะไม่สามารถขนส่งอุปกรณ์เข้าไปได้ ส่วนประเทศใกล้เคียงก็จะใช้กรุงเทพฯ เป็นฐานในการทำธุรกิจ
          "เป้าหมายหลักของเราอยู่ที่อินโดนีเซียกับพม่า ธุรกิจที่โฟกัสมากสุด คือ การจัดงานอีเวนต์ การจัดกิจกรรมการตลาด คอนเสิร์ตและโชว์ทางวัฒนธรรม เราคาดว่าผลจากการเปิด AEC จะทำให้รายได้ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าโตขึ้น 100% จาก 1,000 ล้านบาท เป็น2,000 ล้านบาท" เสริมคุณ กล่าว
          "ประกิต ประทีปะเสน" ประธานกรรมการบริษัท ผลิตภัณฑ์ตราเพชร (DRT) ให้ความเห็นว่า บริษัทส่งออกสินค้าไปขายที่กัมพูชาและพม่าอยู่แล้ว แต่หลังจากนี้จะขยายตลาดออกไปสู่มาเลเซียและอินโดนีเซีย โดยการเพิ่มศูนย์กระจายสินค้าที่ จ.สุราษฎร์ธานี จากปัจจุบันมีอยู่แล้ว 1 แห่งที่ จ.
ขอนแก่น ซึ่งครอบคลุมตลาดอีสานและกัมพูชา
          "เราคงไม่ไปสร้างโรงงานในบริเวณที่เชื่อมต่อกับเพื่อนบ้านเพราะเสี่ยงเกินไป แต่จะไปตั้งศูนย์กระจายสินค้าแทน ซึ่งสามารถเข้าถึงตลาดต่างประเทศได้เช่นกัน" ประกิต กล่าว
          "ศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร" กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอ็มเอฟอีซี (MFEC) กล่าวว่าธุรกิจไอทีจะได้รับประโยชน์จากการเปิด AEC ทางอ้อม โดยหลังจากที่ทุกประเทศเปิดเสรีแล้วจะทำให้การแข่งขันสูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัว เสริมประสิทธิภาพแข่งขันและการวัดผลที่เป็นรูปธรรม ซึ่งจะก่อให้เกิดการลงทุนด้านไอทีจำนวนมาก
          "บริษัทได้ปรับตัวรองรับ AEC มานานแล้วด้วยการควบรวมกิจการกับบริษัทหลายแห่งเพื่อสร้างความแข็งแกร่งและตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ครบวงจรมากขึ้น"ศิริวัฒน์ กล่าว
ที่มา : โพสต์ทูเดย์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น