วันอังคารที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2555

เทสโก้ทิ้งญี่ปุ่นโละหุ้นขาย “ อิออน ”


เทสโก้ค้าปลีกยักษ์ใหญ่อังกฤษ ประกาศ ถอนตัวออกจากญี่ปุ่น เพื่อหันไปทุ่มเทการพลิกฟื้นกิจการในประเทศ และการสร้างธุรกิจในสหรัฐ หลัง 8 ปีไม่ประสบความสำเร็จเจาะตลาดญี่ปุ่น ขณะที่ เทสโก้ เมืองไทย ประกาศเดินหน้าทุ่ม 7 พันล้านต่อปี ขยาย 300 สาขา
          เทสโก้ แถลงเมื่อวันจันทร์ (18 มิ.ย.) ว่า บริษัทจะขายหุ้น 50% ให้กับ อิออน โค ผู้ค้าปลีกรายใหญ่สุดของญี่ปุ่น ในราคาหุ้นละ 1 เยน จากนั้นจะลงทุน 40 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 2,000 ล้านบาท ในกิจการร่วมทุน สุดท้ายจะขายหุ้นที่เหลือ 50% ให้ อิออน ก่อนถอนตัวออกไปโดยสิ้นเชิง แต่ไม่เปิดเผยระยะเวลาที่แน่ชัด นับเป็นการยุติความพยายาม 8 ปีของเทสโก้ในการเจาะตลาดค้าปลีกที่แข็งแกร่งของญี่ปุ่น
          เทสโก้ มีร้านค้า 117 แห่งในญี่ปุ่น ซึ่งผู้สังเกตการณ์ธุรกิจค้าปลีกระบุว่า มีขนาดใหญ่กว่าร้านสะดวกซื้อทั่วไป แต่มีขนาดเล็กกว่าซูเปอร์มาร์เก็ตตามปกติ และตั้งอยู่ห่างจากย่านที่มีการจราจรหนาแน่นมาก อีกทั้งมีการกระจายตัวน้อยใน 6 เขตของญี่ปุ่น
          ข้อตกลงดังกล่าวจะช่วยให้ อิออน เจ้าของร้านค้าปลีก เซเว่น แอนด์ ไอ โฮลดิงส์ สามารถขยายสาขาในตลาดบ้านเกิด ขณะที่บริษัทพยายามผลักดันการขยายตัว ซึ่งก่อนทำข้อตกลงกับ เทสโก้ อิออน ทุ่มงบกว่า 775 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา รวมถึงการซื้อหุ้นในซูเปอร์มาร์เก็ตในเครือมารุเอตสึ และ มารุนากะ
          การแข่งขันที่เข้มข้น และรสนิยมผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มักเป็นปัญหาสำหรับผู้ค้าปลีกต่างชาติ โดย วอลมาร์ท และ เมโทร ของเยอรมนี ดิ้นรนอย่างหนักในการเข้าไปดำเนินธุรกิจ ขณะที่ คาร์ฟูร์ ถอนตัวออกไปภายในเวลาเพียง 5 ปี
          เทสโก้ ลงทุนในญี่ปุ่นประมาณ 100 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 5,000 ล้านบาท นับตั้งแต่ปี 2546 มีทั้งร้านค้าขนาดเล็ก ซูเปอร์มาร์เก็ต เทสโก้ และร้านสะดวกซื้อ ภายใต้ชื่อ สึรุคาเมะ เทสโก้และ เทสโก้ เอ็กซ์เพรส บริษัทมีร้านค้าทั้งหมด 117 แห่งในกรุงโตเกียว และไม่สามารถทำกำไรจากธุรกิจเหล่านี้
          แหล่งข่าวอ้างเมื่อปีที่แล้วว่า เทสโก้ ว่าจ้าง โกลด์แมน แซคส์ ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการขายธุรกิจในญี่ปุ่น หลังจากทุ่มงบ 32,800 ล้านเยน เพื่อซื้อแฟรนไชส์เมื่อปี 2546
          นายจอน โคปสเตค หัวหน้านักวิเคราะห์ธุรกิจค้าปลีก อิโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต ชี้ถึงปัญหาว่า รูปแบบซูเปอร์มาร์เก็ตและสินค้าของ เทสโก้ ไม่เหมาะกับตลาดญี่ปุ่น ที่เต็มไปด้วยร้านสะดวกซื้อ
          หลังจากออกคำเตือนผลกำไรเมื่อเดือนม.ค. ซึ่งเป็นการเตือนครั้งแรกในรอบ 20 ปี เทสโก้ ก็ประกาศว่าจะลงทุน 1,000 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 50,000 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูการดำเนินงานในประเทศ
          ขณะที่ เทสโก้ มีรายได้จากต่างประเทศประมาณ 1 ใน 3 ของรายได้ทั้งหมด 72,000 ล้านปอนด์ต่อปี หรือประมาณ 3.6 ล้านล้านบาท แต่นักลงทุนวิจารณ์ว่า บริษัทมุ่งให้ความสำคัญกับการขยายตัวในต่างประเทศ    ทั้งที่ส่วนแบ่งตลาดในอังกฤษลดลง
          นายฟิลิป คลาร์ก หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหาร ประกาศแผนการให้ เทสโก้ ออกจากตลาดญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนส.ค. ปีที่แล้ว โดยให้เหตุผลว่า ส่วนแบ่งตลาดไม่ถึง 1% ทำให้ธุรกิจของบริษัทไม่ใหญ่โตพอที่จะทำกำไร
          นายคลาร์ก ปฏิเสธข้อเสนอแนะให้กำจัดธุรกิจ เฟรช แอนด์ อีซี ในสหรัฐด้วย โดยให้เหตุผลว่าธุรกิจนี้จะถอนทุนคืนได้ภายในปีงบประมาณปัจจุบัน แต่เขากล่าวในเวลาต่อมาว่า เฟรช แอนด์ อีซี จะยังไม่สามารถถอนทุนคืนในปีนี้ และเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เทสโก้ เผชิญเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มบำนาญสหรัฐ กรณีขาดความโปร่งใสในการดำเนินกลยุทธ์ในสหรัฐ
          นายโคปสเตค แห่ง อิโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ยูนิต กล่าวว่า การที่ เทสโก้ ยังหว่านเงินหลายล้านปอนด์ให้กับ เฟรช แอนด์ อีซี แทบจะเรียกได้ว่าเป็นเรื่องของความหยิ่งทะนง ตลาดสหรัฐก็คล้ายกับตลาดญี่ปุ่น เนื่องจากเป็นตลาดที่เจาะเข้าไปได้ยาก และความพยายามของ เทสโก้ จนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ
          นอกจาก อังกฤษและสหรัฐ เทสโก้ ยังดำเนินธุรกิจในหลายประเทศ รวมถึง ฮังการี โปแลนด์ เกาหลีใต้ และ ไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดโตเร็วที่สุดของบริษัท
          เทสโก้ ไทยทุ่ม7พันล้านต่อปี ขยาย 300 สาขา
          ขณะที่ตลาดเมืองไทย เทสโก้ โลตัส ยังคงประกาศเดินหน้าการขยายสาขาแบบอัตราเร่งเพื่อรองรับโอกาสทางการตลาดของธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทยที่ยังมีช่องทางการเติบโตอีกมากสำหรับร้านค้าปลีกสมัยใหม่ หรือ โมเดิร์นเทรด ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนตลาดเพียง 40% ของอุตสาหกรรมค้าปลีก ขณะที่ตลาดใหญ่ 60% ยังคงเป็นร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิม หรือ เทรดดิชั่นนอลเทรด
          ทั้งนี้ในแต่ละปีเทสโก้ โลตัส จะใช้งบลงทุนไม่ต่ำกว่า 7,000 ล้านบาท สำหรับการขยายสาขาใหม่มากกว่า 300 แห่งต่อปี ซึ่งในปีนี้คาดการณ์ใช้งบมากกว่าปี 2554 เพราะนอกจากจะลงทุนเปิดสาขาใหม่ในอัตราเดิมแล้ว ยังจะมีการลงทุนสร้างศูนย์กระจายสินค้าในภูมิภาค คือ ภาคเหนือ ใต้ และตะวันออกเฉียงเหนือ เพิ่มเติมจากที่มีอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทั้งนี้เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงหากเกิดปัญหาน้ำท่วมเหมือนปีที่ผ่านมา และเพิ่มประสิทธิภาพในการกระจายสินค้ารองรับสาขาที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
          ธุรกิจเทสโก้ ในประเทศไทย มีอัตราการเติบโตสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศสโลวะเกีย ที่เติบโตสูงสุดในเครือข่ายธุรกิจค้าปลีกเทสโก้ สโตร์ ใน 13 ประเทศ
          เทสโก้ มองว่าไทยมีศักยภาพในการเติบโตอีกมาก ความมั่งคั่งของคนไทยเพิ่มขึ้น ทำให้มีกำลังซื้อสูงขึ้น เราสามารถเปิดสาขาใหม่มากกว่า 300 แห่ง/ปี อย่างต่อเนื่องไปได้อีก 2-3 ปี  และยังจะมีนวัตกรรมทางธุรกิจใหม่ๆ เพื่อสร้างการเติบโตธุรกิจในไทยโดยเฉพาะชอปปิงออนไลน์ที่เตรียมบุกตลาดอย่างจริงจังในปีนี้
          ดึงโนว์ฮาวชอปปิงออนไลน์จากอังกฤษ
          บริษัทแม่ เทสโก้ แห่งประเทศอังกฤษ มีความพร้อมในเรื่องของโนว์ฮาวและประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจชอปปิงออนไลน์ที่ได้รับการตอบรับสูงในอังกฤษ  โดยเตรียมให้บริการเต็มรูปแบบในไทยภายในปีนี้ นับเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นประเทศที่ 2 ในภูมิภาคเอเชียต่อจากเกาหลีใต้ ซึ่งธุรกิจนี้จะทำให้ เทสโก้ โลตัส เติบโตอย่างก้าวกระโดด
          ปัจจุบัน เทสโก้ โลตัส มีเครือข่ายสาขาทั่วประเทศกว่า 900   แห่ง ในปีนี้จะมีการปรับเปลี่ยนสาขาขนาดใหญ่ 5 แห่งเป็น เทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส เช่น บางนา จากปัจจุบันรูปแบบดังกล่าวให้บริการ 2 สาขา ได้แก่ พระราม 4 และ
ขอนแก่น
          สำหรับ เทสโก้ โลตัส เริ่มต้นธุรกิจในไทยมา 17 ปี มีมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 1.3 แสนล้านบาท มีผู้ผลิตสินค้าชาวไทยที่ป้อนสินค้าให้มากกว่า 9,000 ราย และเปิดพื้นที่ให้แก่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี กว่า1.4 หมื่นราย ใช้พื้นที่ของเทสโก้ โลตัสในการดำเนินธุรกิจ มีพนักงานประจำกว่า 4 หมื่นตำแหน่ง และมีแผนจ้างงานใหม่เพิ่มเติมประมาณ 9,000 ตำแหน่ง
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น