วันพุธที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2555

มข.ผลิตไบโอเอทานอลมันสำปะหลังเพิ่มพลังงานทดแทนลดวัสดุเหลือทิ้ง-ลดโลกร้อน


              รศ.ดร.เฉลิม เรืองวิริยะชัย อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เปิดเผยผลการศึกษาวิจัยการผลิตไบโอเอทานอล (ลิกโนเซลลูโลสิก เอทานอล) จากลำต้นมันสำปะหลัง เพื่อเป็นพลังงานทดแทนในกลุ่มของพลังงานชีวภาพ โดยเมื่อนำไปผสมกับน้ำมันเบนซินเป็นแก๊สโซฮอล์แล้ว จะช่วยให้น้ำมันมีราคาถูกลง และช่วยลดภาวะโลกร้อนได้อีกทางหนึ่ง รวมทั้งยังเป็นการนำวัสดุเหลือทิ้งกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์อีกด้วย ว่า ปริมาณของเอทานอลที่ได้จะอยู่ที่ประมาณ 8-12 เปอร์เซ็นต์ ของวัตถุดิบตั้งต้นคือลำต้นมันสำปะหลัง
          รศ.ดร.เฉลิม กล่าวว่า แม้ว่าปริมาณของเอทานอลที่ได้จะอยู่ที่ 8-12 เปอร์เซ็นต์ แต่เชื่อว่างานวิจัยนี้มีความคุ้มค่าในระดับหนึ่ง ซึ่งสามารถขยายผลงานจากห้องปฏิบัติการ นำไปสู่เชิงพาณิชย์ได้ โดยเมื่อนำเอทานอลที่ได้ไปผสมกับน้ำมันเบนซิน เป็นแก๊สโซฮอล์ จะทำให้น้ำมันมีราคาถูกลง และคิดว่าในอนาคตจะมีความคุ้มค่ามากขึ้น โดยเป็นอีกพลังงานทดแทนอีกทางเลือกหนึ่ง ทั้งยังเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรให้ใช้ประโยชน์จากลำต้นมันสำปะหลังอย่างคุ้มค่า และช่วยลดภาวะโลกร้อนได้ โดยแก๊สโซฮอล์มีองค์ประกอบต่างจากน้ำมันเบนซิน คือ น้ำมันเบนซินจะมีสารเมธิล เทอร์เทียรี บิวทิล อีเธอร์ หรือสาร MTBE เป็นสารเพิ่มออกเทนให้น้ำมัน ทำให้ป้องกันการน็อกของเครื่องยนต์ได้
          ส่วนแก๊สโซฮอล์จะใช้เอทานอลผสมลงในน้ำมันเบนซิน แทนสาร MTBE ซึ่งออกซิเจนที่เป็นส่วนประกอบในเอทานอล จะช่วยให้การเผาไหม้ภายในห้องเครื่องยนต์สมบูรณ์ขึ้น ลดปริมาณแก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์หรือแก๊สพิษชนิดอื่นๆ ที่จะปล่อยออกมาจากท่อไอเสีย ช่วยลดมลพิษในอากาศ ที่จะส่งผลต่อสภาวะโลกร้อน ในขณะที่สาร MTBE เป็นของเหลวติดไฟได้ มีราคาแพง แม้จะใช้แทนสารตะกั่วในน้ำมันเบนซินได้ แต่หากสูดดมเข้าไปจะทำให้เกิดอาการคลื่นเหียน ระคายเคืองจมูกและคอ มีผลต่อระบบประสาท และยังพบว่าเป็นสารก่อมะเร็งอีกด้วย
ที่มา : ข่าวสด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น