วันอาทิตย์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ชูลุยท่อส่งน้ำมันเหนือ-อีสานเซฟพลังงาน25ปี4.2หมื่นล้าน



             ปตท.ลุยศึกษาโปรเจ็กต์สร้าง "ท่อส่งน้ำมัน" เหนือและอีสาน 958 กม. เซฟต้นทุนพลังงานอนาคตมหาศาลกว่า 4.2 หมื่นล้าน ลดงบฯซ่อมแซมถนน และก๊าซเรือนกระจก
          นายวีระพล จิรประดิษฐกุล อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เปิดเผยว่า ได้ว่าจ้างสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยศึกษาแนวทางลงทุนโครงการสร้างท่อขนส่งน้ำมันไปภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือส่วนต่อขยายจังหวัดสระบุรี เบื้องต้นจะพัฒนาความยาว 958 กม. แบ่งเป็นการสร้างท่อส่งน้ำมันไปยังลำปาง 613 กม. และ จะสร้างคลังน้ำมันเส้นทางนี้อีก 2 แห่ง ที่พิษณุโลก กับลำปาง

          ในเส้นทางตะวันออกเฉียงเหนือจะวางท่อส่งน้ำมันจากคลังน้ำมันสระบุรีไขอนแก่น ความยาว 345 กม. ใช้งบฯ 15,237 ล้านบาท แบ่งเป็นระบบท่อส่งน้ำมัน 8,854 ล้านบาท คลังจ่ายน้ำมัน 4,374 ล้านบาท อื่น ๆ 2,009 ล้านบาท ตามแผนหากก่อสร้างและใช้ประโยชน์จากโครงการนี้สำเร็จจะเป็นช่องทางหลักสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้ทั้ง 2 ภาค โดยจะประหยัดพลังงานในอีก 25 ปี คิดเป็นมูลค่า 42,000 ล้านบาท ประหยัดค่าซ่อมแซมรถบรรทุกน้ำมันได้ 19,500 ล้านบาท ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 530 ล้านบาท และลดค่าใช้จ่ายการบำรุงรักษาถนนได้อีกเป็นอย่างมาก
          ทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในพื้นที่ปลายท่อลดลง 20-30 สตางค์/ลิตร เมื่อเทียบกับการขนส่งด้วยรถบรรทุกขนาดกลาง ซึ่งขนส่งน้ำมันจากกรุงเทพฯไปเชียงใหม่ จะมีต้นทุน 66 สตางค์/ลิตร หากเป็นรถสิบล้อ 1.20 บาท/ลิตร และยังเฉลี่ยราคาน้ำมันให้เท่ากันได้ทั้งประเทศด้วย
          "โครงการนี้จะได้ข้อสรุปจากผลการศึกษาของสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยอีก 1-2 เดือน จากนั้นจึงนำเสนอปลัดกระทรวงพลังงานนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป เมื่อได้รับอนุมัติจะต้องใช้เวลาก่อสร้างอีก 4-5 ปี โดยต้องศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและต้องทำประชาพิจารณ์จากชุมชนที่ท่อส่งน้ำมันผ่าน
          ส่วนแนวทางการลงทุนมีหลายรูปแบบ อาจเป็นการลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน หรือเอกชน หรือรัฐลงทุนฝ่ายเดียวก็ได้ การบริหารจัดการควรจะ มีเพียงบริษัทเดียวจัดการโครงสร้างท่อส่ง น้ำมันและคลังทั้งหมด ควรเป็นหน้าที่ของบริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จำกัด (แทปไลน์) ผู้บริหารท่อส่งน้ำมัน คลังน้ำมัน จากกรุงเทพฯไปสระบุรี หรือหากแทปไลน์ไม่อยากลงทุนเพิ่มก็ให้เอกชนรายอื่นก่อสร้าง แล้วว่าจ้างแทปไลน์บริหาร"
          นายวีรพลกล่าวว่า ขณะนี้ยังได้จัดทำแผนสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ 90 วัน โดยสั่งการให้ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 เพิ่มการสำรองน้ำมันจาก 5% เป็น 6% หรือ 36 วัน เป็น 43 วัน ตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ขณะนี้มีโรงกลั่น 1 ราย คือ บริษัท สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (เอสพีอาร์ซี) ยื่นขอผ่อนผันเพิ่มการสำรองตามกฎหมาย ระบุไม่มีคลังน้ำมันรองรับ แต่ ธพ.จะพิจารณาอนุญาตเป็นราย ๆ ไป
          ขณะที่การสำรองน้ำมันของภาครัฐ อยู่ระหว่างศึกษาวิธีการและจัดตั้งองค์กรเฉพาะด้านมาบริหารจัดการ โดยศึกษาตัวอย่างในต่างประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ซึ่งภาครัฐต้องลงทุนไปซื้อน้ำมันมาสำรองส่วนที่เหลือราว 1 แสนล้านบาท เมื่อคำนวณจากน้ำมันดิบ 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ส่วนการสร้างคลังอีก 30,000-40,000 ล้านบาท จะเป็นรัฐหรือเอกชนลงทุนก็ได้
          ด้านนายพีระพงษ์ อัจฉริยชีวิน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ได้ทำสัญญาระยะสั้นเพื่อจัดซื้อก๊าซธรรมชาติ (LNG) ระหว่างปี 2556-2557 จากกาตาร์ ปี 2558 จะทำสัญญาซื้อระยะยาวเพื่อความมั่นคงของประเทศ ครั้งละ 2 ล้านตัน
          แต่ขณะนี้ ปตท.ยังไม่มีแผนจะสร้างคลังเก็บก๊าซแอลเอ็นจีใหม่ เพราะคลังที่ระยองระยะ 1 และ 2 กำลังจะเสร็จเร็ว ๆ นี้ มีความจุ 10 ล้านตัน เพียงพอในการจ่ายให้กับโรงไฟฟ้าแห่งใหม่แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP 2010) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3
ทีมา : ประชาชาติธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น