วันอาทิตย์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ยอดขายที่ดินนิคมขยับนักลงทุนไม่หวั่นน้ำท่วม


             กนอ.เผยยอดขายและเช่าที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมในรอบ  9  เดือนของปีงบประมาณ  2555  ขยายตัวเพิ่มขึ้น  1,113  ไร่  ชี้นักลงทุนไม่หวั่นวิกฤตอุทกภัย  มั่นใจไทยยังเป็นฐานการผลิตที่มีศักยภาพ  พร้อมรับมือเออีซีในปี  2558  เตรียมจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมรองรับเพียบ  ส่วนนิคมอุตสาหกรรมบ้านพุน้ำร้อน  จ.กาญจนบุรี  บนพื้นที่  500  ไร่  จะพัฒนาด้านโลจิสติกส์  การขนส่ง  เพื่อเชื่อมโยงทวายในพม่า
          นายวีรพงศ์  ไชยเพิ่ม  ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  (กนอ.)  เปิดเผยว่า  ผลการดำเนินงานของ  กนอ.ในรอบ  9  เดือนของปีงบประมาณ  2555  (ตุลาคม  2554-มิถุนายน  2555)  มียอดขายและเช่าพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรมทั้งที่  กนอ.  ดำเนินการเอง  และนิคมฯ  ร่วมดำเนินงาน  รวม  3,342  ไร่  แบ่งเป็นนิคมฯ  ร่วมดำเนินงาน  3,305  ไร่  และนิคมฯ  กนอ.ดำเนินการ  37  ไร่  เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ  2554  ในช่วงเดียวกันมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอยู่ที่  1,113  ไร่
          “กรณีดังกล่าวจะเห็นว่ายอดขายพื้นที่ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นนักลงทุนในด้านแผนการป้องกันภาวะน้ำท่วมของรัฐบาล  รวมถึงการเป็นฐานการผลิตของไทยที่มีศักยภาพทั้งในเรื่องระบบสาธารณูปโภค  การเชื่อมโยงธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำไปยังปลายน้ำ  ที่จะทำให้ธุรกิจมีความเข้มแข็งที่จะรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน  หรือ เออีซี ในปี  2558” 
          นายวีรพงศ์  กล่าวอีกว่า  กนอ.ยังมีแผนในการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมใหม่  เพื่อรองรับการลงทุนในอนาคตที่จะเชื่อมโยงกับเพื่อนบ้าน  ได้แก่  โครงการจัดตั้งนิคมฯ  ชายแดนบ้านพุน้ำร้อน  อำเภอเมือง  จังหวัดกาญจนบุรี  ซึ่ง  กนอ.ได้รับงบประมาณ  12  ล้านบาท  เพื่อดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้  และสำรวจพื้นที่ที่เหมาะสม  เป็นจำนวนพื้นที่ประมาณ  500  ไร่  โดยรูปแบบการพัฒนาจะเป็นนิคมฯ  บริการด้านโลจิสติกส์  การขนส่งสินค้า  เพื่ออำนวยความสะดวกเรื่องการขนส่งสินค้าผ่านแดน  เชื่อมโยงกับโครงการท่าเรือน้ำลึก  สำหรับนิคมฯทวาย  ประเทศพม่า  โครงการจัดตั้งนิคมฯ  อำเภอเชียงของ  จังหวัดเชียงราย  อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้และการสำรวจพื้นที่ที่เหมาะสม  โดยจะพัฒนาในรูปแบบนิคมอุตสาหกรรมบริการด้านโลจิสติกส์  การขนส่งสินค้าเพื่ออำนวยความสะดวกเรื่องการขนส่งสินค้าผ่านแดน  และเชื่อมโยงกับโครงการท่าเรือน้ำลึก  และนิคมฯทวาย 
          ทั้งนี้  พื้นที่เบื้องต้นที่จะพัฒนาเป็นนิคมฯประมาณ  500  ไร่  โดย  กนอ.  ได้รับจัดสรรงบประมาณ  6  ล้านบาท  เพื่อดำเนินการส่งเสริม  และเชิญชวนนักลงทุนเพื่อให้เกิดการดำเนินการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอย่างเป็นรูปธรรม  โดย  กนอ.  ได้ลงนามในสัญญาจ้าง  คณะเศรษฐศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เป็นที่ปรึกษาโครงการ  เมื่อวันที่  30  เมษายน  ที่ผ่านมา  ขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการเชิญชวนและหาพันธมิตรทางธุรกิจ  คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในเดือนกันยายนนี้  นิคมฯ  ดังกล่าวจะรองรับการเชื่อมโยงทางด้านคมนาคมขนส่งเส้นทางสาย  R3A  (ไทย-ลาว-จีนตอนใต้)  ซึ่งสร้างเสร็จแล้ว  และเส้นทางสะพานข้ามแม่น้ำโขง  (เชียงของ-ห้วยทราย)  คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี  2556  พื้นที่การพัฒนาเป็นนิคมฯ  200  ไร่  ซึ่งรูปแบบการลงทุนอาจเป็นแบบนิคมฯร่วมพัฒนา  นอกจากนี้ในปีงบประมาณ  2556  กนอ.ยังมีโครงการศึกษาความเหมาะสมในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมที่สำคัญ  ได้แก่  โครงการศึกษาความเหมาะสมจัดตั้งนิคมฯ ในจังหวัดขอนแก่น  นิคมฯ จังหวัดอุดรธานี  นิคมฯ ในจังหวัดนครพนม  นิคมฯในจังหวัดนครราชสีมา  นิคมฯสื่อบันเทิง 
          นายวีรพงศ์  กล่าวเพิ่มเติมว่า  แผนการสร้างเขื่อนคันกั้นน้ำถาวรในพื้นที่เสี่ยง  6  นิคมฯ  คือ  นิคมฯ  ลาดกระบัง  นิคมฯ  บางชัน  นิคมฯ  บางปู  นิคมฯ  บางพลี  นิคมฯ  สมุทรสาคร  และนิคมฯ  พิจิตร  ซึ่งจะใช้วงเงินลงทุน  3,546  ล้านบาท  เพื่อนำมาก่อสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมถาวรโดยจะเริ่มก่อสร้างภายในกรกฎาคมนี้  ส่วนความคืบหน้าการทำเขื่อนกั้นน้ำถาวรในนิคมฯ/เขต/สวน  อุตสาหกรรมที่ประสบภาวะน้ำท่วมในปี  2554  จำนวน  6  แห่ง  ประกอบด้วย  บางปะอิน  บ้านหว้า  (ไฮเทค)  บางกะดี  โรจนะ  นวนคร  ขณะนี้การดำเนินงานก้าวหน้า  ประมาณ  80% 
          “ในส่วนของนิคมฯ  สหรัตนนคร  ล่าสุด  ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณ  3,236  ล้านบาท  (รวมความยาวรอบพื้นที่  143  กิโลเมตร)  เพื่อนำมาก่อสร้างแนวป้องกันน้ำท่วม  โดยกระทรวงอุตสาหกรรม  มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานโครงการปรับปรุงระบบเขื่อนป้องกันอุทกภัยฯ  เพื่อตรวจสอบความถูกต้อง  เหมาะสมของการก่อสร้างเขื่อนฯ  ของแต่ละแห่ง  ประกอบการพิจารณาอนุมัติการเบิกจ่าย  โดยมีผู้ว่าการ  กนอ.เป็นประธาน  และผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ  ที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะทำงานฯ  ในชุดนี้ด้วย  เชื่อว่าการสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมจะแล้วเสร็จทันเดือนสิงหาคมนี้  ยกเว้นนิคมฯ  สหรัตนนครที่คาดว่าจะแล้วเสร็จล่าช้ากว่านิคมฯอื่น  อย่างไรก็ดี  กนอ.ได้เตรียมความพร้อมแผนสำรองกรณีฉุกเฉินไว้แล้ว"  นายวีรพงศ์  กล่าวในที่สุด
ที่มา : ดอกเบี้ยธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น