วันจันทร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

6 ชาติลุ่มน้ำโขงบูมท่องเที่ยว ลดจุดอ่อนเสริมจุดแข็ง-กำหนดทิศทางยาวเหยียด


                 แม้ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง หรือจีเอ็มเอส (GMS : Great Mekhong Subregion) ได้แก่ กัมพูชา จีน พม่า ไทย ลาว และเวียดนาม จะมีมานานถึง 20 ปี แต่บรรยากาศการท่องเที่ยวในลุ่มน้ำโขงก็ไม่ได้ "บูม" เท่าที่ควรอย่างที่หลายฝ่ายอยากเห็นทิศทางการท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศ "จีเอ็มเอส" อีก 20 ปีนับจากนี้ เป็นสิ่งที่น่าสนใจมากว่าภาครัฐและเอกชนจะร่วมกันแก้โจทย์ดังกล่าวไปในทิศ ทางไหน มีแนวทางการพัฒนาที่เป็นรูปธรรมอย่างไร เพื่อผลักดันโมเดลท่องเที่ยวในกลุ่มจีเอ็มเอสเติบโตต่อไป 

"วิลเล็ม นิไมเยอร์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร "คีรี แทรเวล" บริษัทนำเที่ยวในกลุ่มลุ่มน้ำโขงมานาน 18 ปี ได้ฉายถึงปัญหาภาพรวมของการท่องเที่ยวในกลุ่มจีเอ็มเอสให้ฟัง โดยได้ยก "เชียงราย" เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจว่า แม้เชียงรายจะเป็นจุดหมายปลายทางที่ได้เปรียบเรื่องที่ตั้งเพราะติดกับพม่า และลาว ทั้งยังมีสินค้าท่องเที่ยวที่สวยงาม แต่สนามบินแม่ฟ้าหลวง (เชียงราย) ซึ่งอัพเกรดเป็นระดับนานาชาติเมื่อปี 1992 ไม่ได้มีสายการบินระหว่างประเทศเปิดเส้นทางบินตรงเพิ่มขึ้นมากนัก 

โดยเปรียบเทียบจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเชียงรายเมื่อปี 2553 มีประมาณ 3.85 แสนคน ต่างจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าเชียงใหม่มากถึง 1.7 ล้านคน และเข้าภูเก็ตอีก 4.5 ล้านคน 

"มุมนี้เป็นเรื่องที่น่าผิด หวังมาก เพราะเชียงรายมีศักยภาพด้านท่องเที่ยว ไม่ได้ขาดแคลนสิ่งดึงดูดใจ มีทั้งศูนย์กลางด้านศิลปวัฒนธรรมอย่างวัดร่องขุ่น 

แคมป์ช้าง โครงการหลวง หมู่บ้านชาวเขา โบราณสถานในเชียงแสน หอฝิ่น และมีโรงแรมคุณภาพสูงเป็นทางเลือกหลายแห่ง เช่น เดอะ โฟร์ซีซั่น, อนันตรา และเลอ เมอริเดียน แต่กลับไม่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว" 

"วิลเล็ม" ยังได้ชี้ถึงปัญหาที่แท้จริงอีกจุดว่า การขนส่งนักท่องเที่ยวทางรถยนต์ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ผ่านชายแดนและด่านตรวจคนเข้าเมืองไปยังพม่า ลาว และจีน ไม่ได้รับการอำนวยความสะดวกมากนัก จึงไม่ต่างอะไรกับ "ทางตัน" ที่รอวันปลดล็อก 

สำหรับการท่องเที่ยวในลุ่มน้ำโขง หลังจากได้ลองผิดลองถูกกันมานานถึง 20 ปี สิ่งสำคัญคือจะต้องทำให้ดีกว่านี้ในอีก 20 ปีข้างหน้า โดยเราเชื่อว่าเชียงรายจะเป็นจุดหมายปลายทางที่ยูนีคมากในอนาคต เพราะมีทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่สวยงาม และมีปัจจัยบวกด้านการเดินทางทางรถยนต์จากพม่า ลาว และจีน ที่คาดว่าจะได้รับความสะดวกขึ้น 

เมื่อ กลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา การประชุมประจำปี "แม่โขง ทัวริสซึ่ม ฟอรั่ม 2012" ที่จังหวัดเชียงราย ได้ถกกันถึงประเด็นการพัฒนาและส่งเสริมสินค้าท่องเที่ยวในกลุ่มจีเอ็มเอส โดยให้น้ำหนักกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และการพัฒนาทรัพยากรบุคคล 

"สุวัตร สิทธิหล่อ" ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาบอกว่า ไทยต้องชูบทบาทการเป็นฮับของกลุ่มจีเอ็มเอส เพราะได้เปรียบเรื่องที่ตั้ง ส่วนเป้าหมายร่วมกันของกลุ่มคือ เร่งดึงนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่นนอกอนุภูมิภาคเข้ามาเที่ยวมากขึ้น ผ่านการโปรโมตเป็นจุดหมายปลายทางเดียว (single destination) โดยคณะ กรรมการด้านการตลาดจะร่วมกันออกแบบแพ็กเกจท่องเที่ยวเส้นทางเชื่อมโยงตามชาย แดน และจะร่วมกับหน่วยงานส่งเสริมการท่องเที่ยว (เอ็นทีโอ) ของแต่ละประเทศเพื่อเพิ่มจำนวนวันพักเฉลี่ยของนักท่องเที่ยว 

"มาร์ติน เครกส์" ประธานบริหารสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (พาต้า) มองว่า พาต้าจะร่วมกับภาคเอกชนออกแบบแพ็กเกจท่องเที่ยวราคาสูงเพื่อจับตลาดนักท่อง เที่ยวคุณภาพ เป็นแพ็กเกจแบบเอ็กซ์คลูซีฟพริวิเลจ เจาะกลุ่มที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (อีโคทัวริสซึ่ม) รวมถึงกลุ่มไฮเอนด์ที่ต้องการความสะดวกสบาย 

ผมยังเชื่อว่าโมเดลท่อง เที่ยวในลุ่มน้ำโขงมีความเป็นไปได้ที่จะประสบความสำเร็จ เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวใน 6 ประเทศมีแนวโน้มขยายตัวสูง มีปัจจัยหนุนด้านการเดินทาง อย่างทางรถยนต์ก็กำลังจะมีสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 4 ในเร็ว ๆ นี้ อีกทั้งต้องดึงนักท่องเที่ยวจากเชียงใหม่ให้มาเที่ยวเชียงรายต่อให้ได้ 

ส่วนทางเครื่องบิน กลยุทธ์หลักที่ต้องเร่งทำคือ เพิ่มจำนวนเที่ยวบิน โดยขณะนี้ได้ประสานไปยัง 3 สายการบิน ได้แก่ โคแม็ค จากจีน, ซูโคย จากรัสเซีย และมิตซูบิชิ จากญี่ปุ่น เปิดบินตรงเข้าเชียงราย 

ด้าน "สตีเฟ่น ชิปานี" ตัวแทนจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) เล่าว่า เอดีบีจะเพิ่มการสนับสนุนแก่ประเทศที่สนใจลงทุนด้านซอฟต์แวร์ เช่น การเทรนนิ่งบุคลากร เพิ่มผู้เชี่ยวชาญ ผู้ประสานงานเชิงเทคนิค และระบบรองรับต่าง ๆ รวมถึงการสร้างถนนหนทางเพราะเอดีบีมองว่าเมื่อสาธารณูปโภคได้รับการพัฒนา ภาคธุรกิจรายย่อยก็จะโตตาม 

ขณะที่ "เต้ อ่อง" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการโรงแรมและท่องเที่ยวของพม่าบอกว่า พม่าจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวลุ่มน้ำโขงให้ก้าวไป ข้างหน้า โดยเกือบทุกประเทศในกลุ่มจีเอ็มเอสเป็นสมาชิกอาเซียน ซึ่งมีจุดประสงค์การสนับสนุนให้มีการเดินทางแบบ free flow ของภาคบริการ สินค้า แรงงาน และการลงทุน ซึ่งกลุ่มจีเอ็มเอสจะเป็นกลไกสำคัญในการเพิ่มสิ่งเหล่านี้ให้กับพม่าและ "พม่า" ก็น่าจะได้รับความนิยมมากขึ้น 

"โอลิเวียร์ เจเกอร์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเว็บไซต์ ForwardKeys.com ชี้ให้เห็นถึงอัตราการจองห้องพักในพม่าก็เพิ่มสูงขึ้นมากถึง 54% ตั้งแต่มิถุนายน-สิงหาคม เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว 

ขณะที่ภาพรวมของอัตราการจองห้องพักของทั้ง 6 ประเทศ จีเอ็มเอสเพิ่มขึ้น 13% ในเดือนกรกฎาคม และเพิ่มขึ้น 19% ในเดือนสิงหาคมเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว 

"เม สัน ฟลอเรนซ์" ผู้อำนวยการบริหาร "แม่โขงทัวร์" ชี้ว่า แม้จำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ด้านท่องเที่ยวในกลุ่มจีเอ็มเอสจะเพิ่มสูง ขึ้น แต่เรื่องเร่งด่วนที่ผู้ประกอบการเห็นร่วมกันก็คือ ต้องการให้การท่องเที่ยวในลุ่มน้ำโขงเติบโตอย่างยั่งยืน จึงต่างแบ่งปันกรณีศึกษาที่ดีที่สุดและน่าสนใจมากขึ้นในงานสัมมนาที่ผ่านมา เพื่อกำหนดอนาคตด้านท่องเที่ยวที่ดีร่วมกันสำหรับการประชุมประจำปี 2556 ประเทศจีนจะรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพ 

"สรรเสริญ เงารังษี" รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้เรื่อง "ซิงเกิลวีซ่า" กำลังอยู่ในขั้นตอนการประสานงานและเจรจา เมื่อเสร็จสมบูรณ์ก็จะส่งผลให้การท่องเที่ยวในกลุ่มลุ่มน้ำโขงดีขึ้น 

ทั้งนี้ คาดว่ากระบวนการซิงเกิลวีซ่าจะสามารถนำมาใช้ได้ทันปี 2558 รับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแน่นอน 

ทั้งหมดนี้ยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามว่า ทั้ง 6 ประเทศในกลุ่มจีเอ็มเอสจะร่วมกันแก้โจทย์ใหญ่เพื่อผลักดันกระแสท่องเที่ยว ตามแนวลุ่มน้ำโขงต่อไป 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น