วันอังคารที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

สนข.เล็งเปิดรางให้เอกชนวิ่งหาเงินป้อนร.ฟ.ท.


สนข.คิดนอกกรอบ เตรียมเปิดทางให้เอกชนเช่ารางและโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆของการรถไฟฯนำไปบริการเดินรถเพื่อการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าด้านการลงทุนของภาครัฐและกระตุ้นให้เกิดการแข่งขัน เผยอาจเปิดทางเอกชนลงขันตั้งบริษัทร่วมลงทุนจัดหารถและโบกี้ นำร่องภาคอีสานก่อนขยายเส้นทางอื่นๆ ในระยะต่อไป
          ดร.จุฬา สุขมานพผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าเตรียมผลักดันให้มีการต่อยอดแผนการพัฒนาองค์กรการรถไฟแห่งประเทศไทยโดยเฉพาะโครงการที่เกิดจากการใช้งบประมาณ 1.7 แสนล้านบาทซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานไม่ว่าจะเป็นรางหมอน ระบบอาณัติ สัญญาณหรือการจัดซื้อหัวรถจักรใหม่ให้การเดินทางสะดวกรวดเร็วมีความปลอดภัยมากขึ้น
          โดยแนวคิดดังกล่าวเตรียมเปิดทางให้เอกชนที่มีศักยภาพด้านการจัดซื้อหัวรถจักรและโบกี้ขนสินค้ามาเช่ารางที่การรถไฟฯจัดสร้างขึ้นและโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆให้บริการเดินรถทั้งเพื่อการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าด้านการลงทุนที่รัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้มากถึง 1.7 แสนล้านบาท โดยเอกชนที่สนใจอาจลงทุนเองหรือร่วมลงทุนจัดหาหัวรถจักรพร้อมจัดซื้อโบกี้-แคร่ขนสินค้าเองเนื่องจากเห็นว่าหากเข้าสู่กระบวน การของการรถไฟฯจัดซื้อจัดหาก็จะเกิดความล่าช้าเช่นที่ผ่านมาจนส่งผลให้ผลประกอบการของการรถไฟฯไม่เป็นไปตามแผน
          "เล็งเห็นว่าการรถไฟฯควรเร่งปรับการบริหารจัดการเพื่อรองรับการเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ควรเน้นเชิงรุกมากกว่าจะตั้งรับ โดยเฉพาะการรุกสู่กลุ่มประเทศเพื่อนบ้านของไทย โดยรางและโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ควรนำมาใช้ประโยชน์ให้เกิดความคุ้มค่าสร้างรายได้ให้การรถไฟฯมากกว่านี้ แนวทางหนึ่งคือการเปิดตลาดรถไฟด้านการขนส่งสินค้าด้วยภาคเอกชนมาลงทุนมากกว่าจะเปิดทางให้มาเลเซียหรือสิงคโปร์ที่ในอนาคตเมื่อเปิดเสรีเออีซีจะเป็นการแข่งขันกันได้การรถไฟไทยจึงต้องเร่งปรับตัวรับการแข่งขันจากภายนอกตั้งแต่วันนี้ โดยแนวทางต่อมาจะเกิดผลให้ต้องมีการเพิ่มบุคลากรเพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดรถไฟในหน้าที่ต่างๆโดยไม่ไปแก่งแย่งคนที่มีอยู่เดิม โดยสวัสดิการในส่วนภาคเอกชนเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด"
          ผอ.สนข.กล่าวอีกว่าในเบื้องต้นมีแนวคิดหารือกับภาคเอกชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ต้องการเป็นผู้นำร่องเพราะมีความโดดเด่นด้านพื้นที่ที่มีปริมาณสินค้าป้อนเข้าสู่ระบบการขนส่งจำนวนมากอีกทั้งมีนักลงทุนที่มีศักยภาพหลายๆคนที่มีความสนใจจะลงทุนด้านโลจิสติกส์การขนส่งด้วยระบบรางของรัฐบาล
          "ในช่วงแรกจะทำเป็นโซนเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงสู่ท่าเรือแหลมฉบังให้มากขึ้น โดยเฉพาะจุดใหญ่ที่
ขอนแก่นซึ่งพบว่าศักยภาพของผู้ประกอบการด้านการขนส่งสินค้าภาคเอกชนในพื้นที่ภาคอีสาน  หลายคนมีความพร้อมขอเพียงรัฐบาลและการรถไฟฯมีความชัดเจนด้านนโยบายเท่านั้นโดยอาจมีการลงทุนร่วมกัน ส่วนการรถไฟฯรับรายได้จากค่าเช่าราง พร้อมทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้เกิดความคุ้มค่าด้านการลงทุนเพื่อให้ได้รับสวัสดิการและผลประกอบการที่ดีขึ้นกลับคืนมาในที่สุด โดยจะได้มีการหารือกับผู้เกี่ยวข้องและภาคเอกชนพร้อมผลักดันให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป"
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น